นักโบราณคดีระบุตำราแพทย์จีน 2,200 ปี เป็นต้นฉบับแผนที่กายวิภาคศาสตร์เก่าแก่ที่สุดของโลก
ทีมนักกายวิภาคศาสตร์และนักโบราณคดีจากสหราชอาณาจักรค้นพบว่า บางส่วนของตำราแพทย์จีนโบราณที่เขียนบนผ้าไหมหลายผืน ซึ่งถูกพบในสุสานของครอบครัวขุนนางราชวงศ์ฮั่นเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ในมณฑลหูหนานนั้น ถือได้ว่าเป็นแผนที่กายวิภาคศาสตร์ (anatomical atlas) ฉบับเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังคงหลงเหลืออยู่
ตำราดังกล่าวซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 2,200 ปี ได้กล่าวถึงตำแหน่งและลักษณะของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสตร์การฝังเข็มรักษาโรค โดยให้คำอธิบายต่อผู้อ่านด้วยการลากแนวเส้นสมมติหรือ “เส้นเมอริเดียน” (meridian) ผ่านจุดสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเดิมเชื่อว่าเส้นนี้คือทางเดินของลมปราณ (ชี่) มากกว่าจะเป็นอวัยวะอย่างเส้นเลือดหรือเส้นเอ็นจริงๆ
รายงานการค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Anatomical Record โดยวิเวียน ชอว์ หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัยและผู้สอนวิชากายวิภาคศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบังกอร์ของสหราชอาณาจักรบอกว่า
“ตำรานี้มีอายุเก่าแก่กว่าตำราการฝังเข็มใด ๆ ที่เคยพบมา ทั้งเนื้อหาของมันยังถูกอ้างอิงในตำราชั้นหลังอีกด้วย ทำให้เชื่อได้ว่าตำรานี้เป็นพื้นฐานของศาสตร์การฝังเข็มที่ทำกันมาตลอดระยะเวลาสองพันกว่าปี” ชอว์กล่าว
“เคยเชื่อกันว่าศาสตร์การฝังเข็มไม่มีพื้นฐานความรู้ทางกายวิภาคที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ แต่การค้นพบตำรานี้ท้าทายความเชื่อดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าแพทย์แผนจีนรุ่นแรก ๆ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของร่างกายมนุษย์ไว้จริง ๆ ดังที่ปรากฏในพงศาวดารฮั่นซูว่า มีการผ่าศพอาชญากรเพื่อให้แพทย์ได้ศึกษา”
ตำรานี้ถูกพบในสุสานแห่งเดียวกับที่ฝังร่างของซินจุย คุณหญิงแห่งแคว้นไต้ (Lady of Dai) มัมมี่สภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่มากที่สุดในโลก ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าอย่างสูงทางการแพทย์และกายวิภาคศาสตร์ของคนในยุคนั้น
ทีมผู้วิจัยยังบอกว่า การอ่านตำรานี้ทำได้ยากมาก เพราะนอกจากจะต้องรู้ภาษาจีนโบราณแล้ว ยังต้องมีความรู้กายวิภาคศาสตร์มากพอที่จะค้นหาอวัยวะซึ่งตำราพรรณนาเอาไว้ด้วยแนวเส้นสมมติได้ ตัวอย่างเช่น “เส้นที่เริ่มจากจุดศูนย์กลางของฝ่ามือ ลากขึ้นไปตามแนวของปลายแขนระหว่างกระดูกสองท่อน ตรงไปตามแนวเส้นเอ็นแล้วลอดใต้พังผืดเข้าไปในกล้ามเนื้อต้นแขน เข้าสู่รักแร้แล้วเชื่อมต่อกับหัวใจ” แท้จริงแล้วเป็นคำบรรยายที่หมายถึงหลอดเลือดแดงอัลนาร์ (ulnar artery) เส้นเลือดหลักที่นำเลือดไปเลี้ยงปลายแขนนั่นเอง
อันที่จริงมีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ที่เอ่ยถึงตำราของนายแพทย์ฮีโรฟิลัส (Herophilus) และอีราซิสตราตัส (Erasistratus) ที่เขียนขึ้นเมื่อราวกว่า 300 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งน่าจะนับเป็นแผนที่กายวิภาคศาสตร์เก่าแก่ที่สุดของโลกได้ แต่ปัจจุบันเราไม่มีทั้งต้นฉบับหรือเล่มคัดลอกของตำราดังกล่าวหลงเหลืออยู่แล้ว ทำให้ตำราแพทย์จีนยุคราชวงศ์ฮั่นครองตำแหน่งแผนที่กายวิภาคศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไป
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-54084458